วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555



วนอุทยานเขากระโดง
เขากระโดงเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่มองเห็นลักษณะปากปล่องได้ชัดเจน อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) วนอุทยานเหล่านี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด สามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางรถยนต์ ซึ่งตลอดเส้นทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ส่วนทางขึ้นอีกทางหนึ่งเป็นบันได มีความสูงประมาณ 265 เมตร ก่อนถึงยอดเขา จะเห็นสระน้ำมณีวรรณ อยู่ทางด้านขวามือ สระน้ำนี้เชื่อว่าเดิมเป็นปากปล่องภูเขาไฟ บนยอดเขาเป็นลานกว้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ ชื่อว่า “พระสุภัทรบพิตร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองบุรีรัมย์ และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอยู่ด้วย
อ่างเก็บน้ำกระโดง
อยู่ด้านหน้าของภูเขาไฟกระโดง มีทางแยกซ้ายมือก่อนจะถึงเขากระโดง เพื่อเข้าไปยังค่ายลูกเสือ “บุญญานุศาสตร์” และสวนสัตว์ บริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีมากอีกแห่งหนึ่ง และจากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้ เป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ราชการของโครงการชลประทานและที่ทำการประปา อยู่ในท้องที่ตำบลเสม็ด บนเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10-13 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ และร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นทั่วทั้งบริเวณ จึงเป็นสถานที่พักผ่อนที่นิยมมากอีกแห่งหนึ่งของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

วัดกลางบุรีรัมย์
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ มีประวัติเล่าว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบเจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นกบฏ และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางบุรีรัมย์เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2533

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์
ตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์ได้ทำพิธีเปิดศูนย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2536 และเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันในเวลาราชการ

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ 1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 208) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็กไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร 2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 23 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย) ปราสาทหินพนมรุ้ง
เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้างและใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมหันมานับถือศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงคงจะได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในช่วงนั้น - ตัวโบราณสถาน ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร จากพื้นราบ คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่” ปราสาทพนมรุ้งหันไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพังสามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนิมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน - ปรางค์ประธาน หรือส่วนที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวะนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก” กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และปลายปีเดียวกัน ก็ได้รับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความงดงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพนมรุ้ง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท การเดินทางไปชมปราสาทหินพนมรุ้งในกรณีที่ท่านมิได้นำรถยนต์ไปเอง ต้องใช้บริการของบริษัทขนส่ง จำกัด แล้วลงที่อำเภอนางรอง จะมีรถสองแถวรับจ้างเหมาขึ้นปราสาทพนมรุ้ง คันละประมาณ 200-300 บาท หรือติดต่อโดยตรงที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. (044) 631746 วัดเขาอังคาร
เขาอังคารเป็นภูเขาไฟดับสนิทแล้ว ห่างจากพนมรุ้ง 20 กิโลเมตร โดยลงมาจากพนมรุ้งถุงบ้านตาเป็กแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทางที่จะไปละหานทราย ประมาณ 13 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 7 กิโลเมตร พบใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันมีวัดเขาอังคารอยู่บนยอดเขา เป็นวัดสวยงามสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ และภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย
อำเภอนางรอง
อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม
ริมทางหลวงหมายเลข 24 ทางด้านซ้ายมือระหว่างทางจากอำเภอนางรองไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในบริเวณนี้มีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ในฤดูแล้ง
อำเภอประโคนชัย
ปราสาทหินเมืองต่ำ
ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร เส้นทางราดยางตลอด การเดินทางสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ 1. เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้ง เมื่อถึงปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาเข้าปราสาทเมืองต่ำ เป็นระยะทางอีก 5 กิโลเมตร 2. เส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย จากตัวอำเภอประโคนชัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 2221 เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร แยกซ้ายไปปราสาทเมืองต่ำอีก 5 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัดเพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 โดยลักษณะของศิลปะขอมแบบคลังซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู - ตัวปราสาท ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ปรางค์ทุกองค์มีประตูสู่ภายในปรางค์ได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอกต่างกัน แต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้าอีกชั้นหนึ่ง การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐานอีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม สำหรับปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ จากการขุดแต่งได้พบยอดปรางค์ทำด้วยหินทรายสลักเป็นรูปดอกบัว ตกอยู่ในบริเวณฐานปรางค์ หน้ากลุ่มปรางค์ยังมีวิหารเป็นอาคารก่ออิฐ 2 หลัง ตั้งหันหน้าตรงกับปรางค์ที่อยู่ด้านข้างทั้งสององค์ สิ่งก่อสร้างดังกล่าว ล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า ระเบียบคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทั้งหมดยกเว้นซุ้มประตูของประตูชั้นในด้านทิศตะวันตกก่อด้วยหินทราย สลักลวดลายในส่วนต่างๆ อย่างงดงาม ตั้งแต่หน้าบัน ทับหลัง เสาติดผนัง ฯลฯ เป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลวดลายที่ผูกขึ้นจากใบไม้ ดอกไม้ที่มักเรียกรวมๆ ว่า ลายพันธุ์พฤกษา ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งหินแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียรเกลี้ยงๆ ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น