วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ ที่มีความงดงามมากที่สุดแห่ง หนึ่ง ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ปรากฏให้เห็นได้ในรูปของงานสถาปัตยกรรม การจำหลักลวดลายการเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขามีแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้าง ต่าง ๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน จากงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่นี้ ชวนให้เกิดความสงสัยและอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าคนในสมัยโบราณสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นมาได้อย่างไร
ปราสาทพนมรุ้ง เป็นที่รู้จักของชาวท้องถิ่นเป็นอย่างดี ดังได้มีนิทานพี้นบ้านเรื่อง "อินทรปรัสถา" กล่าวถึงคู่พระคู่นางซัดเซพเนจรไปจนพบที่พักพิงซึ่งเป็นปราสาทหินอันงดงามรกร้างอยู่ท่ามกลางป่าเขา แต่สำหรับบุคคลภายนอกต่างบ้านต่างเมืองนั้น ปราสาทแห่งนี้รู้จักกันครั้งแรกตามที่มีเอกสารที่มีการกล่าวถึงปราสาทพนมรุ้งเป็นครั้งแรกคือ บันทึก ของนายเอเตียน เอมอนิเยร์ (Etienne Aymonier) ชาวฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2428 ตีพิมพ์เป็นบทความใน พ.ศ. 2445

ปี พ.ศ. 2449 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จมาที่ปราสาทพนมรุ้ง คราวเสด็จมณฑลอีสาทและเสด็จอีกครั้งในปี พ.ศ. 2472 กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานของชาติประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

และปี พ.ศ. 2503-2504 ได้ดำเนินการสำราจปราสาทพนมรุ้งอีกครั้ง ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้เริ่มดำเนินการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis คือ การนำชิ้นส่วนของปราสาทกลับเข้าสู่ตำแหน่างเดิม) เปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน

ชื่อของปราสาทพนมรุ้ง เป็นชื่อดั้งเดิมของโบราณสถานแห่งนี้ คำว่า พนมรุ้งปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ที่พบที่ปราสาทแห่งนี้จารึกพนมรุ้ง หลักที่ 2 หลักที่ 4 และ K10900 จารึกว่า พนมรุ้งเป็นชื่อเทวสถาน ที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีที่ดิน หมู่บ้าน เมือง


ปราสาทแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยที่ประทับของพระศิวะพระองค์ที่ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ดังนั้น การที่ ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นบนยอดเขาพนมรุ้ง จึงเป็นการสะท้อนถึงการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายได้เป็นอย่างดีผ

อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของปราสาทพนมรุ้ง ไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันหมดในคราวเดียว ได้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อการนับถือศาสนาของชุมชน ขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ได้แก่ ปราสาทอิฐ 2 หลัง ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายเหลือเพียงฐานและกรอบประตู หลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างต่อเนื่องกันมาเป็นลำดับ โดยกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรโบราณ หรือผู้นำที่ปกครองชุมชน อันมีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง

ปราสาทพนมรุ้ง คงมีความสำคัญสืบต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) พระองค์นับถือศาสนาฮินดูไศวนิกาย เช่นเดียวกับพระราชบิดา (พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ) นอกจากจะมีพระราชโองการให้สร้างจารึกเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระราชบิดาแล้วยังทรงถวายที่ดินให้กับเทวสถานใน สมัยนี้เอง เทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบอย่างแท้จริง ข้อความในจารึกพนมรุ้ง บางหลักแม้จะมีเนื้อความขาดหายแต่ก็ให้ภาพ รวมได้ว่าเทวสถานบนเขาพนมรุ้ง เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ คือ ศิวลึงค์ มีอาณาเขตกว้าวขวางมีที่ดิน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดิน (พระเจ้าวรมันที่ 5 ) และข้าราชการระดับต่าง ๆ ถวายหรือซื้อถวายให้กับเทวสถานพร้อมกับมีพระราชโองการ ให้ปักหลักเขตที่ดินขึ้นกับเทวสถานพนมรุ้งพร้องกับการสร้างเมือง สร้างอาศรมให้กับโยคี และนักพรตด้วย


ในราวพุทะศตวรรษที่ 17 ได้มีการก่อสร้างปราสาทประธานขึ้น จากการศึกษาศิลาจารึกพนมรุ้ง หลักที่ 7 และหลักที่ 9 กล่าวได้ว่าปราสาทประธานสร้างขึ้นในสมัยเรนทราทิตย





ชีวประวัติของนเรนทราทิตย์

นเรนทราทิตย์เป็นโอรสของพระนางภูปตีนทรลักษมี เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม มีความสามารถในการรบ ได้เข้าร่วมรบกับกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในการรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น จากศึกสงครามนเรนทราทิตย์คงได้รับความดีความชอบเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองเมือง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์มหิธรปุระ

ทรงได้ดำเนินการสร้างปราสาทหลังใหญ่ขึ้นประดิษฐานรูปเคารพสร้างงานศิลปกรรมปรากฏเป็นงานจำหลักตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง ที่ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า มีความประสงค์ที่จะสร้างเทวสถานแห่งนี้เป้นเทวาลัยของพระศิวะ มีศิวลึงค์เป็นองค์ประธาน และยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ แต่อยู่ในสถานะเทพชั้นรอง นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏในจารึกยังแสดงให้เห็นว่า นเรนทราทิตย์ ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ เพื่อประดิษฐานรูปของตนเอง หลังจากสิ้นพระชนม์ ความเลือมใส ศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนา ทำให้ท่านทรงออกบรรพชาถือองค์เป็นนักพรตจวบจนวาระสุดท้าย ข้อความที่ปรากฏในจารึกพนมรุ้ง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ท่านคงเป็นนักพรตในลัทธิไศวนิกาย ตามแบบนิกายปศุปตะที่มีการนับถือกันมาแล้วแต่เดิม โอรสของนเรนทราทิตย์ คือ หิรัณยะ เป็นผู้ที่ให้จารึกเรื่องราวเพื่อสรรเสริญเกียรติคุณของพระบิดาได้ให้ช่างหล่อรูปของนเรนทราทิตย์ด้วยทองคำ

สิ่งก่อสร้างสมัยสุดท้าย คือ บรรณาลัย และพลับพลา ซึ่งมีการก่อสร้างเพิ่มเติมซ่อมแซมขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 - 1763 ) มหาราชองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเขมร พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน โปรดให้สร้างอโรคยศาล หรือ ศาสนสถานพยาบาล จำนวน 102 แห่ง และที่พักคนเดินทาง จำนวน 121 แห่ง ขึ้นในดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ ตามข้อความที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหม และจารึกปราสาทพระขรรค์ ตามลำดับ โบราณสถานดังกว่าวนี้ ที่อยู่ใกล้เคียงปราสาทพนมรุ้ง ได้แก่ กุฏิฤาษีเมืองต่ำ และกุฏิฤาษีหนองบัวลาย ซึ่งเป็นศาสนสถานพยาบาล ปราสาทบ้านบุ เป็นที่พักคนเดินทาง




ภาพจำหลัก
ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะที่ห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพพระศิวะนั้นแม้จะไม่พบประติมากรรมชิ้นนี้แต่ก็มีภาพจำหลักของพระศิวะปรากฏดังนี้
ทับหลังภาพฤษีในปราสาทประธาน
A lintel inside the principal tower
ภาพโยคีหรือฤษี
บนทับหลังชั้นในสุด ของปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ จำหลักเป็นภาพโยคี 5 ตน นั่งชันเข่าพนมมืออยู่ที่ซุ้มเรือนแก้ว ส่วนบน
ทับหลังด้านทิศใต้ ภายโยคีตรงกลางถือลูกปะคำ และมีรูปโยคีขนาดเล็กอยู่ริมสุดทั้ง 2 ข้าง ภาพบนทับหลังนี้เกี่ยวข้องกับพระศิวะ โดยพระองค์เป็นเทพ
แห่งโยคะ พระนามหนึ่งของพระองค์คือ มหาโยคี

ภาพพระศิวะนาฏราช
ที่บริเวณหน้าบันด้านทิศตะวันออกของมณฑปปราสาทประธานเป็น
ภาพจำหลักพระศิวะนาฏราช หรือพระศิวะทรงฟ้อนรำ เป็นภาพพระศิวะเศียร
เดียว สิบกร อยู่ในท่าฟ้อนรำ แวดล้อมด้วยบุคคล โดยบุคคลที่อยู่ทางซ้าย
มือสุดของพระศิวะ คือ พระคเณศ โอรสของพระองค์ ถัดมาน่าจะได้แก่ พระ
วิษณุ พระพรหม ตามลำดับ และมีภาพเทวสตรี 2 องค์อยู่ทางด้านขวา
ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูจังหวะการ่ายรำของพระศิวะ อาจะบันดาล
ให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่โลกได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสวดอ้อนวอนให้พระ
องค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดี โลกจึงจะสงบหากพระองค์โกระกริ้วฟ้อนรำใน
จังหวะที่รุนแรง จะนำมาซึ่งภัยพิบัติต่าง ๆ
ภาพอุมามเหศวร
ภาพนี้ปรากฏบนห้านบัน ชั้นที่หนึ่งด้านทิศใต้ของมณฑปปราสาท
ประธาน ภาพอยู่ในสภพาชำรุดมาก แต่ยงพอมองเห็นได้ว่าเป็นภาพพระศิวะพระ
นางอุมาชายา ประทับอยู่บนหลังโคนนทิซึ่งเป็นพาหนะของพระองค์แวดล้อม
ด้วยเหล่าข้าทาศบริวาร
ที่หน้าบันชั้นที่ 3 ด้านทิศตะวันตก ปราสาทประธาน ปรากฏภาพ
อุมามเหศวร อยู่ในวิมานบนเขาไกรลาส โดยชายาของพระองค์ประทับอยู่บน
ชานุเบื้องซ้าย วิมานที่ประทับอยู่มีรูปทรงแบบปราสาท
ภาพศิวะมหาเทพ
บนหน้าบันชั้นที่หนึ่งของมุขด้านทิศใต้ปราสาทประธานเป็นภาพ
จำหลัก ซึ่งอยู่ในสภาพชำรุด มีรูปเทพ 4 กร (เห็นเพียง 3 กร) ประทับ
บนแท่น ขนาบข้างด้วยสตรี เบื้องล่างเป็นรูปบุคคลเรียงกันอยู่ ภาพจำหลัก
ตรงกลางน่าจะหมายถึง พระศิวะ ประทับนั่งบนยอดเขา ไกรลาส ซึ่งแสดง
โดยการทำฐานซ้อนเป็นชั้น
 
ภาพพระศิวะและพระอุมาประทานพรแก่อสูร
บนหน้าชั้นที่สอง ด้านทิศตะวันออกของมณฑปมีภาพจำหลักซึ่งมี
สภาพค่อนข้างชำรุดเป็นภาพบุคคล 2 คน นั่งอยู่บนแท่น บุคคลที่อยู่ทาง
ซ้ายน่าจะหมายถึงพระศิวะ บุคคลที่มีลักษณะแบบสตรี น่าจะหมายถึง พระอุ
มา กำลังให้พรแก่อสูร เบื้องหลังจำหลักเป็นภาพต้นไม้ใหญ่ ลักษณะเหล่านี้
แสดงถึง เขาไกรสาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ
อย่างไรก็ตาม ภาพจำหลักชิ้นนี้ อาจแสดงเรื่องราวใน รามยณะตอน
หนุมานถวายแหวนแก่นางสีดา
นอกจากนับถือพระศิวะแล้ว ก็ยังมีการนับถือเทพองค์อื่น ๆ อีก โดย
นับถือเป็นเทพชั้นรอง มีการจำหลักภาพเกี่ยวกับเทพเหล่านั้นด้วย
พระวิษณุ (พระนารายณ์)
ภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์
ที่ทับหลังของมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา เหนือ
พระยาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยุ่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่งท่ามกลางเกษียรสมุทรมีก้านดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภีของพระองค์ มีพระพรหมประอยู่เหนือดอก
บัวนั้น พระนารายณ์ทรงถือ คฑา สังข์ (?) และจักรไว้ในพระหัตถ์หน้าซ้าย พระหัตถ์หลังซ้ายและพระหัตถ์หลังด้านขวา ตามลำดับ ส่วนพระหัตถ์หน้า
ขวา รอบรับพระเศียรของพระองค์เองทรงมงกุฏรูปกรวยกภณฑล กรองศอ และทรงผ้าจีบเป็นริ้ว มีชายผ้ารูปหาปลาซ้อนกันอยู่ 2 ชั้นด้านหน้าคาดด้วย
สายรัดพระองค์ มีอุบะขนาดสั้นห้อยประดับมีปพระลักษณมีชายาพระองค์ประทับนั้นอยู่ตรงปลายพระบาท


สำหรับพระพรหม ซึ่งประทับเหนือดอกบัวนั้น มีสี่พักตร์ สี่กร
ถัดจากองค์พระนารายณ์มาทางซ้ายบริเวณเลี้ยวของทับหลัง มีรูปหน้า
กาลคายพวงอุบะขนาดใหญ่ เหนือหน้ากาลมีรูปครุฑ ใช้มือยึดนาคไว้
ข้างละต้นนอกจากนี้ยังปรากฏรูปสัตว์อื่น ๆ ได้แก่ นกแก้ว ลิง
และนกหัสดีลิงค์คาบช้างอยู่ด้วย

การบรรทมสินธุ์ของพระนารายณ์นั้น คือ การบรรทมสินธุ์ของพระ
นารายณ์นั้น คือ การบรรทมในช่วงการสร้างโลก การบรรทมแต่ละครั้ง
นั้น จะเกี่ยวกับยุคเวลาในแต่ละกัลป์ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์
ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้ คงได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์วราหปุราณะ เป็นคัมภีร์
ที่ให้ความสำคัญแก่ พระนารายณ์เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ในขณะที่พระนารายณ์
กำลังบรรทมอยู่นั้น ได้ทรางสุบินขึ้นจากพระนาภี บนดอกบัวได้บังเกิดพระพรหม และพระพรหมทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ และสิ่งต่าง ๆ ต่



ภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ
ปรากฏบนทับของมุขด้านทิศเหนือปราสาทประธาน ภาพอยู่
ในสภาพชำรุดมาก แต่พอมองเห็นได้ เป็นภาพพระนารายณ์
ทรงครุฑอยู่เหนือนาคหลายเศียร ซึ่งไม่ค่อยปรากฏในภาพจำหลักที่อื่น ๆ


ภาพที่แสดงเรื่องราวการอวตารจของพระนารายณ์
ในกาศาสนาฮินดูพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพที่มีหน้าที่ดูแลรักษาโลก เมื่อโลกมนุษย์เกิดความไม่สงบสุข พระองค์จะอวตาร
ลงมาเกิดเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ให้พ้นจากยุคเข็ญ การอวตารที่สำคัญของพระองค์มี 10 ครั้ง ที่มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า นารายณ์ 10 ปาง
สำหรับภาพจำหลักแสดงเรื่องราวอวตารของพระวิษณุที่ปราสาทพนมรุ้ง มีด้วยกัน 3 ปาง คือ วามนาวตาร กฤษณาวตาร และรามาวตาร


1. วามนาวตาร
พระองค์อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย เพื่อปราบอสูรพลีเจ้าแห่ง
เมืองบาดาล ซึ่งยกทัพมารุกรานเทวดาบนสวรรค์ เทวดาต้องถอยหนี
จากวิมาน ไม่มีที่อยู่จึงขอให้พระนารายณ์ช่วย พระองค์จึงอวตาร
(ถือกำเนิด) มาเป็นพราหมณ์เตี้ยขื่อ วามน เสด็จเข้าสู่มณฑลพิธียัญของ
อสูรพลี อสูรพลีไม่ทราบว่าเป็นพระนารายณ์อวตาร จึงบูชาแล้วออกปาก
ให้ทุกสิ่งที่ขอ พราหมณ์วามนจึงขอ "แผ่นดินแค่สามก้าวย่าง" อสูรพลี
ยอมตามโดยมิฟังคำเตือน ของพระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์ จึงทีพิธีหลั่งน้ำเพื่อแสดงสัตย์สัญญายกให้ พราหมณ์วามน จึงสำแดงฤทธิ์ ก้าวแรกเหยียบได้
ตลอดแดนสวรรค์ ก้าวสองเหยียบได้ตลอดแดนมนุษย์ แล้วจึงแสดงองค์เป็นพระนารายณ์เหยียบก้าวที่สามลงบนศีรษะอสูรพลี แล้วไล่ให้กลับไปอยู่
เมืองบาดาลตามเดิม
ภาพจำหลักแสดงเรื่องราวตอนนี้ ปรากฏบนทับหลังประตูชั้นที่สองด้านทิศตะวันออกของมณฑปปราสาทประธาน จากซ้ายไปขวา จะเห็นภาพ
อสูรพลีกำลังหลั่งน้ำลงในมือพราหมณ์เตี้ยตรงกลาง จำหลักเป็นภาพอสูรพลีอยู่ภายในอาคาร ถัดไปเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร กำลังยกพระบาทก้าวข้าม
มหาสมุทร หรือจักรวาล พระบาทซ้ายวางอยู่บนดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน สตรีที่ถือดอกบัวอยู่น่าจะได้แก่ พระศรีหรือลักษมี ชายาของพระ
องค์
นอกจากนี้ที่หน้าบันชั้นที่สาม ด้านทิศเหนือ ของปราสาทประธานยังปรากฏภาพจำหลักที่อาจเป็นเรื่องราวตอนเดียวกันนี้ โดยจำหลักภาพบุคคล
ร่างกายใหญ่โตกำลังก้าวย่างด้วยขาซ้าย มีรูปฝูงชนอยู่ในอาการที่หวาดกลัว
2. กฤษณาวตาร
พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระกฤษณะผู้มีฤทธิ์เดช ห้าวหาญ และ
มีกำลังเหนือมนุษย์เพื่อปราบพระยากงส์ผู้รุกรานกษัตริย์นครต่าง ๆ เมื่อ พระ
กฤษณะถือกำเนิด ท้าววาสุเทพ พระบิดาเกรงพระยากงส์จะฆ่าเสีย จึงนำ
ไปฝากไว้กับนันทะ คนเลี้ยงวัว จึงเติบโตมาในหมู่พวกโคบาล ครั้งหนึ่งจึงได้
สำแดงฤทธิ์ โดยสู้รบกับนาคกาลียะ จนได้ชัยชนะ ต่อมาได้ห้ามนันทะว่าไม่
ให้กราบไหว้พระอินทร์ ให้พลีบูชาภูเขาโควรรธนะแทน เพราะเป็นถิ่นที่อยู่ให้
ร่มเงา หญ้าและน้ำแก่ ปศุสัตว์ พระอินทร์ ทรงกริ้วจึงบันดาลให้ฝนตกน้ำ
ท่วม หวังให้พวกโคบาลวรรธนะป้องกัน ตลอด 7 วัน 7 คืน จนพระอินทร์
ยอมแพ้ต่อมาเห็นว่าพระกฤษณะมีฤทธิ์เดชมาก เกรงจะเป็นอันตรายจึงวางแผนลวงพระกฤษณะเข้ามาในเมืองเพื่อจะฆ่าเสีย โดยปล่อยช้างกุวัลยปิถะ
พระกฤษณะสามารถฆ่าช้างได้ สุดท้ายพระยากงส์จึงถูกพระกฤษณะฆ่าตาย
ภาพจำหลักที่แสดงเรื่องราวได้แก่ ภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะบนหน้าบันชั้นที่สองด้านทิศเหนือของมณฑปปราสาทประธาน ภาพจำหลัก
ตอนพระกฤษณะโควรรธนะ บนหน้าบัน 2 แห่ง คือ หน้าบันด้านทิศตะวันออก ของปราสาทประธาน และบนหน้าบันด้านทิศตะวันออกของปรางค์น้อย
ภาพตอนพระกฤษณะฆ่าช้างกุวัลยปิถะและราชสีห์ บนทับหลังด้านทิศเหนือของอันตราละที่เชื่อมระหว่างปราสาทประธานกับมณฑป และภาพพระกฤษณะ
ฆ่าพระยากงส์บนทับหลังประตูชั้นที่สอง มุขด้านทิศตะวันตกปราสาทประธาน
3. รามาวตาร
รามายณะ เป็นคัมภีร์หนึ่งที่สำคัญในศาสนาฮินดู เป็นเรื่องราวของพระรามหรืออวตาร
ปางหนึ่งของพระนารายณ์เรียกว่า รามาวตารเพื่อปราบอธรรม หรือพวกรากษส (ยักษ์, อสูร)
ซึ่งมีทศกัณฑ์เป็นหัวหน้า รามายณะฉบับภาษาสันสกฤตที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดคือ ฉบับที่รจนา
(แต่ง) โดยฤาษีนามว่า วาลมิกี ในต้นพุทธกาล หรือราว 2,400 ปีมาแล้ว เมื่อเป็นฉบับไทย
ใช้ชื่อว่า "รามเกียรติ์) รามายณะกับรามเกียรติ์จึงมีเนื้อหาบางตอนแตกต่างกันไปบ้าง โดย
เฉพาะชื่อบุคคลและสถานที่ในเรื่องสำหรับปราสาทพนมรุ้งแห่งนี้ คงเป็นกาาสลักเล่าเรื่องตามรา
มายณะ ฉบับภาษาสันสกฤต ซึ่งมีมาก่อนรามเกียรติ์ของไทย






อรัณยะกัณฑ์
หรือตอนพระรามเดินป่า

พระรามพร้อมด้วยนางสีดา ชายาพระลักษมณ์ อนุชา เสด็จออกจากอโยธยา ออกเดินป่า 14 ปี เมื่อเข้าสู่ป่าทัณฑกะ ตอนหนึ่งพบอสูรชื่อ
วิราธ (พิราบ) อสูรพ่ายแพ้ถูกฆ่าตายในที่สุด ทั้งสามพระองค์ได้เดินทางเข้าสู่อาศรมแห่งปัญจาวคี ทศกัณฑ์เจ้ากรุงลงกา มีอิทธิฤทธิ์มากอยากได้
นางสีดาจึงให้ มาจปลอมเป็นกวางล่อพระราม พระลักษมณ์ออกจากอาศรมตามกวาง (ปลอม)ไป ส่วนทศกัณฑ์ปลอมเป็นฤษีเข้าเกี้ยวนางสีดา
นางสีดาไม่ยอม ทศกัณฑ์กลับร่างเดิม (มีสิบเศียร ยี่สิบกร) อุ้มนางสีดา
ขึ้นรถเหาะไปพระยาชดายุปักษิราช (นกสดายุ) เข้าขัดขวางรบกับทศกัณฐ์
แต่พ่ายแพ้
ภาพจำหลักที่แสดงเรื่องราวในตอนนี้ ได้แก่ ภาพพระราม พระลักษมณ์
และนางสีดาเดินป่า บนหน้าบันชั้นที่สอง ของมุขทิศตะวันตก ปราสาทประธาน
ภาพเหตุการณ์ต่อมาได้แก่ ภาพอสูรวิราธแย่งชิงนางสีดาปรากฏอยู่บนหน้าบันชั้น
ที่สองมุขทิศใต้ ต่อมาเป็นภาพวิราธกำลังยกพระรามกับพระลักษมณ์ด้วยมือทั้ง
สอง ปรากฏบนหน้าบันชั้นที่สองของมณฑปด้านทิศใต้ ภาพเหตุการณ์ต่อมาเป็น
ภาพทศกัณฑ์ ลักนางสีดา ปรากฏบนหน้าบันด้านทิศเหนือของอันตราละ



กีษกินธากัณฑ์
หรือ ตอนพระรามปราบพระยาพาลีเจ้านครกีษกินธ์ (ขีดขินธ์)

พาลีพระยาวานรวิวาทกับสุครีพน้องชาย ขับสุครีพออกจากเมืองพระรามมาพบสุครีพจึงทำสัญญาจะช่วยเหลือกันในที่สุดพาลีตายด้วยศรพระรามสุ
ครีพขึ้นครองนครกีษกินข์ และสัญญาว่าจะยกไพร่พลวานรไปช่วยพระรามรบทศกัณฐ์

ภาพสลักเหตุการณ์ตอนนี้ ปรากฏบนซุ้มบัญชรบนชั้นเชิงบาตร
(ส่วนยอด) ชั้นที่สองด้านทิศตะวันตกปราสาทประธาน เป็นภาพลิงสอง
ตัวสู้รบกัน คือ พาลี กับ สุครีพ) พระรามอยู่ทางซ้ายแผลงศรไปที่พาลี





สุนทรภัณฑ์
หรือตอนหนุมานเข้ากรุงลงกา เพื่อตามหานางสีดา

พระรามได้ใช้ให้หนุมาน พระยาวานร ซึ่งเป็นทหารเอกฝีมือเยี่ยม
เหาะข้ามมหาสมุทรไปค้นหานางสีดา ในกรุงลงกา นางสีดาประทับอยู่ใน
สวนอโศก คิดจะผูกคอตาย หนุมานเข้าไปช่วยไว้และกล่าวว่า พระราม
ใช้ให้ตนมา พร้อมกับถวายแหวนจากพระราม นางสีดายอมรับแหวน แต่ไม่ยอมให้หนุมานเป็นผู้พาไปด้วยเหตุที่ว่า "ยักษ์ลักมาลิงลักไปเทพไท้
จะติฉินนินทา"

ภาพสลักบนหน้าบันชั้นที่สอง ด้านทิศตะวันออกของมณฑปปราสาท
ประธานอาจจะเป็นภาพที่แสดงเรื่องราวในตอนนี้


ยุทธภัณฑ์
หรือการรบระหว่างกอบทัพพระรามและกองทัพทศกัณฐ์
ภาพเหตุการณ์ตอนพระรามยกทัพ บนหน้าบันชั้นที่หนึ่ง ของมุม
ประสาทประธาน แสดงภาพการยกทัพของพระรามและพระลักษมณ์
แวดล้อมด้วยไพร่พลวานร การรบระหว่างกอบทัพทั้งสองมีอยู่หลายตอน
เหตุการณ์ตอนสำคัญตอนหนึ่งเรียกว่า ศึกอินทรชิต อินทรชิตลูทศกัณฐ์
มีฤทธิ์มาก แผลงศรนาคบาศ มัดพระราม พระลักษมณ์ไว้ ทศกัณฐ์ให้
นางตรีชฎาพานางสีดีประทับเหาะมาในมษบกแก้วมากการรบ นางสีดา
คิดว่าพระรามตายจริง แต่นางตรีชฎาปลอบว่า หญิงที่ผัวตายขึ้นบุษบก
แล้ว บุษบกจะไม่ลอย แต่นี่ยังลอยอยู่แสดงว่า พระรามไม่ตาย หนุมาน
กำลังจะเหาะไปเอาโอสถที่เกษียรสมุทรมาแก้ เผอิญพระยาครุฑบินมาที่
สนามรบ นาคที่มัดอยู่จึงหายไป (ครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน) ทุกคนจึงรอดชีวิตภาพเหตุการณ์ตอนนี้ปรากฏบนทับหลังและหน้าบันที่อยู่เหนือขึ้นไป ของ
มุขปราสาทประธานด้านตะวันตก
กงอทับพระราม ศึกอินทรชิด
Rama's troop The battle scene
ภาพการรบระหว่าง กุมภกรรณกับกองทัพวานร ปรากฏบนหน้าบันชี้ที่หนึ่งด้านทิศเหนือของมณฑป โดยพระราม (ทางด้านซ้ายของภาพ)
ได้แผลงศรไปสังหารกุมภกรรณที่อยู่ตรงกลางภาพ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ชำรุด โดยเห็นชิ้นส่วนท่อนขาขนาดใหญ่ ของกุมภกรรณส่วนบนของภาพปรากฏ
รูปอยู่หลังพลวานร


การรบระหว่างกุมภกรรณกับกองทัพราม ภาพพระอคัศตยะ
The battle scene Akastaya and Rama

ภาพจำหลักที่สันนิษฐานว่า เป็นภาพพระอคัศตยะ กำลังสอนมนตร์แก่พระราม ปรากฏบนหน้าบันด้านทิศใต้ ของอันตราละประสาทประธาน น่าเสียดายที่ภาพจำหลักอยู่ในสภาพที่ชำรุดแตกหน้าเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังพอมองเห็นได้ว่า เป็นภาพบุคคลคนนั้งคุกเข่า น่าจะหมายถึงพระราม และผู้ติดตาม



ภาพเหตุการณ์ตอนพระรามเสด็จกลับเมืองอโยธยา
ภาพจำหลังบนหน้าบันชั้นที่ 3 ของมุขทิศใต้ปราสาทประธานแสดงภาพพระรามพระลักษมณ์
และนางสีดา ประทับอยู่ในบุษบก เบื้องล่างเป็นแถววานรปะปนกับไพร่พลยักษ์


พระรามเสด็จกลับเมืองอโยธยา
Rama returning to Ayodhya



ภาพเหตุการณ์ในมหาภารตยุทธ
มหาภารตยุทธ เป็นมหากาพย์ที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของอินเดียเป็นเรื่องการทำสงครามระหว่าง ราชวงศ์ปาณฑพกับราชวงศ์เการพ

พิธีสวยมพรพระนางเทราปตี
ปรากฏบนทับหลังประตูชั้นที่สองมุขด้านทิศเหนือ ปราสาทประธาน
โดยแสดงภาพพระอรชุนยิงธนูไปยังเป้าทำเป็นรูปนก ด้านขวาคือนางกำ
นัลของราชธิดาสี่นาง ด้านซ้ายของทับหลังน่าจะหมายถึงพี่น้องปาณฑพ
ที่ปลอมเป็นพราหมณ์ พระอรชุนสามารถยิงธนูได้ถูก จึงได้อภิเษกกับนาง
เทราปต





ภาพที่สันนิษฐานว่า เป็นภาพพระกฤษณะประทับนั่งท่ามกลางพวกปาณฑพ
ปรากฏบนทับหลังด้านทิศใต้ของอันตราละปราสาทประธาน ภาพชำรุด
ลางเลือนอย่างมาก ภาพนี้อาจจะเป็นเหตุการณ์ตอนพระกฤษณะชี้แจงแก่ฝ่าย
ปรณฑพ ถึงการล้มเหลวในการเจรจากับฝ่ายเการพและขอให้เตรียมตัวทำสงคราม

ภาพการกรีฑาทัพของพวกปาณฑพ ปรากฏบนซุ้มบัญชรบนชั้นเชิง
บาตรชั้นที่ 2 ด้านทิศเหนือปราสาทประธาน และภาพการสงคราม
ระหว่างราชวงศ์ปาณฑพกับราชวงศ์เการพ ปรากฏบนซุ้มบัญชรบนชั้นเชิง
บาตรชั้นที่ 2 ด้านทิศใต้
อย่างไรก็ตามภาพทั้งสองนี้ อาจเป็นภาพแสดงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนดินแดนแถบนี้ ในช่วงเวลาที่ร่วมสมัยกับปราสาทพนมรุ้งก็ได้
นอกจากภาพจำหลักพระศิวะ และพระวิษณุแล้ว ยังมีการจำหลักภาพเทพชั้นรองอื่น ๆ อีกได้แก่
พระอินทร์
ในศาสนาฮินดูโบราณ พระอินทร์เป็นเทพแห่งพายุและการสงคราม แต่ในศาสนา
ฮินดูยุคหลังความสำคัญของพระองค์ได้คลายลง จนบางครั้งมีฐานะเป็นเพียงเทพผู้รักษาทิศ
ตะวันออกเท่านั้น ภาพสลักพระอินทร์ปรากฏหลายแห่ง เช่น ที่หน้าบันด้านทิศใต้ของปรางค์
น้อย เป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร ภาพพระอินทร์บนทับหลังด้านนอกของ
โคปุระทิศตะวันออก เป็นภาพ พระอินทร์ประทับนั่งเหนือหน้ากาล ซึ่งโดยทั่วไปพระอินทร์
จะประทับเหนือช้างเอราวัณแต่ในศิลปะเขมรหน้ากาล มักจะแสดงในความหมายของสิงหาสน์
บางครั้งก็ใช้เป็นที่ประทับของพระอินทร์ ภาพพระอินทร์ในลักษณะนี้ยังปรากฏที่ทับหลัง
ของมุขด้านทิศใต้ปราสาทประธานอีกด้วย
เทพประจำทิศ
เทพผู้รักษาทิศในศาสนาฮินดูมีประจำ 8 ทิศ คือ ทิศหลัก 4 และทิศเฉียงอีก 4 ทิศ
ในคัมภีร์ อัคนิปุราณะ กล่าวว่า นอกจากจะมีเทพประจำทิศทั้งแปดแล้ว ยังมีเทพประจำทิศ
เบื้องบนคือ พระพรหมและเทศประจำทิศเบื้องล่าง คือ พญาอนันคตนาคราช รวมเป็น 10 ทิศ
ภาพจำหลักเทพประจำทิศ ที่ปราสาทพนมรุ้งปรากฏอยุ่ 2 ลักษณะ คือ เป็นภาพจำหลักบนกลีบขนุนซึ่งตั้งอยู่เนือซุ้มบัญชรบนชั้นเชิงบาตร
ภาพสลักเทพประจำทิศบนกลีบขนุนปราสาท ปรากฏใน 4 ทิศหลัก ดังนี้
พระอินทร์
เทพประจำทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาชูวัชระคู่ประทับบนช้างเอราวัณ
พระยม เทพประจำทิศใต้ พระหัตถ์ขวาชูคทาประทับบนกระบือ
พระวรุณ
เทศประจำทิศตะวันตก พระหัตถ์ขวาชูบ่วงบาศ ประทับบนแท่นหงส์แบก 3 ตัว
พระกุเวร
เทพประจำทิศเหนือ พระหัตถ์ขวาชูกรอบอง ประทับบนคชสีห์

ภาพจำหลักแสดงชีวประวัติ
ของนเรนทราทิตย์
พิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์ ปรากฏบนทับหลังประตูชั้นที่สองมุขด้านทิศใต้ ปราสาทประธาน ภาพนี้น่าจะหมายถึงพิธีอภิเษกนเรนทราทิตย์ตรงกลางเป็น
ภาพพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ แวดล้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร

โยคฑักษิณามูรติ ปรากกฏบนหน้าบันด้านนอกของโคปุระ หลังกลางระเบียงคดทิศตะวันออก โดยสลักภาพตรงกลางเป็นรูปฤษี ซึ่งน่าจะหมายถึง
พระศิวะ ในภาคโยคฑักษิณามูรติ ผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจหมายถึงท่านนเรนทราทิตย์
ภาพเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของนักบวช
บริเวณปราสาท พนมรุ้ง
ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้มีการจำหลักภาพฤษี หรือ นักบวช ประดับตามส่วนต่าง ๆ เป็นจำนวน
มาก โดยมีอิริยาบถที่หลากหลายแสดงถึงการให้ความสำคัญกับฤษีเป็นพิเศษ ภาพสลักฤษีส่วนใหญ่
นั่งในท่าโยคาสพนมมือ แต่ฤษีบางตนแสดงอิริยาบถที่ต่างออกไป เช่น นั่งขัดสมาธิราบ นั่งพับเพียบ
ถือลูกปะคำ และกระดิ่ง นั่งชันเข่า พนมมืออยู่เหนือศีรษะ


นอกจากนี้ก็ยังมีภาพที่แสดงถึงชีวิตประจำ
วันของฤษี เช่น ภาพบุคคลถวายสิ่งของแก่ฤษี บนหน้าบันชั้นลดมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
มุขทิศเหนือ ภาพการศึกษาคัมภีร์บนหน้าชั้น
ลดทิศตะวันตก ด้านทิศใต้ของมณฑป ภาพการ
รีดนมวัวของฤษี บนหน้าบันชั้นลดมุมทิศตะวัน
ออกเฉียงเหนือของมุขทิศเหนือ





ภาพราคะศิลป์
ถึงแม้ว่า การสลักภาพประดับตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทพนมรุ้ง จะเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความเคร่งครัดนั้นใน
บางครั้งความมีอารมณ์ขัน อารมณ์อ่อนไหวของช่างและการไม่เคร่งครัดของผู้ควบคุม ช่างผู้ทำการสลักภาพได้สร้างงานแบบที่เรียกว่า ราคะศิลป์ ขึ้น
ภาพในลักษณะนี้ไม่ค่อยปรากฏในศิลปะเขมรโดยเฉพาะในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน แต่สามารถพบเห็นได้ในงานศิลปกรรมที่ปรากฏในประเทศไทย
หลายแห่ง แม้แต่ที่ปราสาทพนมรุ้งแห่งน
ี้

ภาพราคะศิลป์ที่ปราสาทพนมรุ้ง มีปรากฏอยู่หลายภาพ เช่น ภาพฤษีสองตนนั่งไขว่ห้าง
ศึกษาคัมภีร์ หันหลังชนกันที่โคนเสาติดผนังด้านทิศตะวันออก ประตูด้านทิศใต้ของอันตราละ
ภาพคู่ของสัตว์ เช่น ภาพนกแก้วคู่บนหน้าบันชั้นแรกมุขด้านทิศตะวันตก ภาพวานรบนต้นไม้บน
หน้าบันด้านทิศเหนือของอันตราละ รูปคู่ของวานรบนผนังด้านทิศใต้ของสะพานนาคราชหน้าบัน
ไดทางขึ้นปราสาท

 สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
ปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีองค์ประกอบและแผนผัง
ในแนวแกนที่เน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ที่ปราสาท
ประธานแผนผังของปราสาทประกอบด้วย อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เรียงตัวกันในแนวยาวตามแนวลาดชันของเขาพนมรุ้ง ดังนี้












บันไดต้นทาง
บันไดต้นทาง จากกระพักเขาด้านล่าง ทางทิศตะวันออกที่ก่อด้วยศิลาแลง เป็นชั้น ๆ 3 ชั้น สุดบันไดขึ้นมาเป็น ชาลารูปกากบาท ยกพื้นตรงกลางสูงกว่าปีก 2 ข้างเล็กน้อย ปูด้วยศิลาแลง เข้าใจว่าเป็นฐานพลับพลารูปกากบาทซึ่งเป็นซุ้มประตูทางเข้า (โคปุระชั้นนอก) ด่านแรกของปราสาทซุ้มประตูนี้คงมีรูปทรงคล้ายกับซุ้มประตูของระเบียงคด
ทิศตะวันออก ซึ่งเป้นทางเข้าด่านสุดท้าย (โคปุระชั้นใน) แต่ไม่มีวัสดุก่อสร้าง เหลือเป็นหลักฐานให้ทราบชัด อาจจะเป้นพลับพลาโถง สร้างด้วยไม้มุงกระเบื้องก็ได้ ด้านในพลับพลาค่อย ๆ ลาดลงสู่ทางเดินที่นำไปสู่บันไดทางขึ้นปราสาทของเดิม อาจมีบันไดก่อด้วยศิลาแลง หรือ หินทรายทอดลงไปเป็นชั้น ๆ

พลับพลา
ทางทิศเหนือของชาลากากบาทมีอาคารโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 6.40 เมตร ยาว 20.40 เมตร ก่อด้วยศิลาแลงมีหินทรายประกอบบางส่วน อาคารนี้หันหน้าไปทางทิศใต้มีทางเข้าออกอยู่ทางทิศตะวันออกและอยู่ทางทิศตะวันตกของอาคาร บนฐานพลับพลามีเสาหิน 4 ต้น มีระเบียงทางเดินล้อมอาคาร รวม 3 ด้าน ยกเว้นด้านหน้า เข้าใจว่า ของเดิมอาจมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องนอกระเบียงมีกำแพงชั้นนอกก่อด้วยศิลาแลงล้อมอยู่โดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งเชื่อมต่อมาจากชาลารูปกากบาท พลับพลาโถงหลังนี้ อาจเป็นอาคารที่เรียกกันในสมัยปัจจุบันว่า "พลับพลาเปลื้องเครื่อง" คือเป็นที่พักจัดเตรียมพระองค์ เช่น เปลื้องเครื่องทรงที่แสดงยศศักดิ์ และจัดกระบวนเสด็จของกษัตริย์ยาเสด็จมาสักการะเทพเจ้า หรือประกอบพิธีกรรม ณ ศาสนสถานแห่งนี้
พลับพลาเปลื้องเครื่องนี้ ในศิลปะแบบบายน เห็นได้จากการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้างหลักลวดลายกลีบบัวที่สลักบนหัวเสาและลายดอกไม้สี่กลีบบนยอดเสา เว้นแต่เศียรนาคที่กรอบหน้าบันสลักลายแบบ ศิลปะคลัง อายุประมาณ ต้นพุทธศตวรรณที่ 16 ซึ่ง่คงจะเป็นการนำของเก่ามาประดับอาคารหลังใหม่ การเอาของเก่ามาใช้เช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่พบทั่วไป ทั้งที่อาคารอื่น ๆ ในปราสาทพนมรุ้ง และที่ปราสาทอื่น ๆ
พลับพลาแห่งนี้เรียกกันทั่วไปว่า โรงช้างเผือก ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าปราสาทบนยอดเขาคือ พระราชวังของกษัตริย์แต่โบราณ ซึ่งมักจะมีโรงช้าง โรงม้าอยู่ข้าหน้า และที่เรียกกันว่าโรงช้างเผือก เพราะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ย่อมจะมีช้างเผือกคู่บารมีอยู่ด้วย
ทางเดิน
เป็นทางเดินเท้าที่ต่อมาจากบันไดชาลารูปกากบาท ที่อาจเป็น ซุ้มประตูชั้นนอก ทอดไปยังบันไดขึ้นสู่ปราสาท ปูพื้นด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย ยาว 160 เมตร กว้าง 9.2 เมตร ขอบถนนทั้งสองข้ามีเสาหินทรายเรียกว่า เสานางเรียง มียอดคล้ายดอกบัวตูม สู่ง 1.60 เมตร จำนวน 68 ตัน ตั้งแรียงอยู่เป็นระยะ ๆ ตรงกันทั้ง 2 แถว ลักษณะเสาและทางเดินเช่นนี้พบที่ปราสาทหลายแห่งในประเทศกัมพูชา เช่นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทบันทายศรี และปราสาทพระขรรค์
สะพานนาคราช
ชั้นที่ 1
สะพานนาคราช มีความหมายเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมระหว่าง โลกมนุษย์ กับโลกของเทพเจ้า เพราะในความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลของฮินดูสะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าคือสายรุ้ง ในเอเชียตะวันออก และอินเดียมักจะเปรียบสายรุ้งกับงู(นาค) หลากสี ที่ชูหัวไปยังท้องฟ้าหรือกำลังดื่มน้ำจากทะเล ตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้บางครั้ง จะกล่าว ถึง งู (นาค) สองตัว เนื่องจาก มักเกิดรุ้งกินน้ำ 2 ตัว อยู่เสมอ ๆ ดังนั้นจึงอาจจะเป็นรุ้งกินน้ำคู่ที่เป็นเครื่องหมาย แสดงทางเดินของเทพเจ้าไปสู่ท้องฟ้านี้เองที่เป็นสิ่งบันดาลใจให้สร้างนาคเป็นราวสะพานอันเปรียบเสมือนตัวแทนของทางเดินแห่งเทพเจ้าที่จำลองมาไว้ในโล



สะพานนาคราชชั้นที่ 1 ก่อด้วยหินทราย ผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 8.20 เมตร ยาว 20.00 เมตร ยกพื้นสูงจากถนน 1.50 เมตร ด้านหน้าและด้านข้างลดชั้น มีบันไดเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกาเป็นทางขึ้น ส่วนด้านหลังเป็นชานกว้างเชื่อมต่อกับบันไดขึ้นปราสาท เสาและขอบสะพานสลักลวดลายงดงาม ราวสะพานทำเป็นลำตัวของพญานาค 5 เศียร หันหน้าออกแผ่พังพานทั้ง 4 ทิศ ลักษณะของเครื่องประดับพญานาคมีรัศมีเป็นแผ่นสลักลวดลายในแนวนอนอันเป็นลักษณะศิลปะกรรม แบบนครวัดซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17
ทางทิศเหนือของสะพานนาคราช มีอัฒจันทร์รูปกากบาท เป็นทางลงสู่ฉนวนทางเดินไปยังสระน้ำ ลักษณะถนนนี้อัดดินแน่น แต่งของสองข้างด้วยศิลาแลง
สิ่งที่น่าสนใจและเป็นจุดเด่นอีกอย่างที่สะพานนาคราชคือ ตรงกลางสะพานมีลายดอกบัวบาน 8 กลีบ จำหลักลงในเนื้อหินล้อมรอบด้วยยันต์ขีดเป็นเส้นคู่ขนานกันไปกับราวสะพาน หัวยันต์ขมวดเป็นรูปกลีบดอกบัว ลักษณะเช่นนี้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายอย่าง บ้างก็ว่ากลีบดอกบัวทั้ง 8 นี้อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดูหรืออาจเป็นยันต์สำหรับบวงสรวงและประกอบพิธีกรรม หรืออาจจะเป็นจุดกำหนดที่ผู้มาทำการบูชาเทพเจ้า ตั้งจิตอธิษฐานขอความคุ้มครองจากเทพเจ้าหรือขอพรอันศักดิ์สิทธ
บันไดขึ้นปราสาท
ต่อจาก สะพานนาคราชชั้นที่ 1 อันเป็นจุดเชื่อมแห่งเทพเจ้า เป็นทางเดินขึ้นไปยังลานบนยอดเขาทำเป็นบันไดหินทราย สูง 10 เมตร มี 5 ขั้น จำนวน 52 ชั้น มีชานพัก 5 ชั้น บันไดและชานพักแต่ละชั้นลดหลั่นกัน ขึ้นไปตามลำดับความสูง ให้ความรู้สึกของยอดเขาที่สูงเสียดยอดขึ้นไป สู่สวรรค์ ทั้ง 2 ข้าง ของชานพักมีเสาหินทราย เจาะรูตรงกลาง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับปักเสาธงในเวลาที่มีเทศกาลในพิธีกรรมต่าง ๆ หรืออาจเป็นเสาโคมไฟ
บันไดขึ้นปราสาท
Entrance Stairway
ทางสู่ปราสาท
ถัดจากบันไดชั้นบนสุด เป็นลานกว้างอยู่หน้าระเบียงคด มีสระสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 5 x 5 เมตร จำนวน 4 สระ
ช่องสี่เหลี่ยม 4 ช่อง เกิดจากการทำทางเข้าตักันเป็นรูปกากบาท
ปัจจุบันปลูกบัวประดับไว้เพื่อความสวยงาม
The pools before entering eastem Getewa






สะพานนาคราช
ชั้นที่ 2
ก่อนจะเข้าซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของระเบียงคดมีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 รับอยู่อีกช่วงหนึ่ง สะพานนาคราชช่วงนี้ยกระดับสู่ง 1.20 เมตร ผังและรูปแบบเหมือนกับสะพานนาคราชชั้นที่ 1 แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ กว้าง 5.20 เมตร ยาว 12.40 เมตร ที่ศูนย์กลางบนพื้นหินของสะพานจำหลักรูปดอกบัวบาน 8 กลีบ อยู่ในวงกลมล้อมรอบด้วยเส้นคู่ขนานตัดกันไปตามผังรูปกากบาท เช่นเดียวกัน มีทางขึ้นเป็นอัฒจันทร์รูปปีกกา 3 ด้านส่วนด้านทิศตะวันตกเชื่อมต่อกับซุ้มประตูระเบียงคด
สะพานนาคราช ชั้นที่ 2 เชื่อมระหว่าง่ทางเดินเส้นกลางกับซุ้มกลาง
ระเบียงคดทฺศตะวันออกซึ่งเป็นทางสำคัญ
The Second Naga Bridge Leading to eastern Gateway
ระเบียงคด
ก่อนจะถึงปราสาทประธานมีระเบียงคดก่อเป็นห้องยาว แต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้โดยตลอดเพราะทำผนังกั้นเป็นช่วง ๆ
ระเบียงด้านทิศตะวันออกและตะวันตกมีผังอย่างเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายขนาดกว้าง 2.6 เมตร ยาว 59 เมตร ส่วนด้านทิศเหนือ-ทิศใต้ ซึ่งมี ผังคล้ายกัน ความยาว 68 เมตร โดยประมาณ มุงหลังคาเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งคล้ายประทุนเรือ แต่สลักด้านบนเลียบแบบหลังคากระเบื้องประดับสันหลังคาด้วยบราสีหินทราย แกะสลักเป็นรูปทรงคล้ายดอกบัวตูมระเบียงด้านทิศใต้ก่อด้วยหินทรายยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือก่อด้วยศิลาแลง ใช้หินทรายเป็นส่วนประกอบ เช่น กรอบประตู หน้าต่าง บัวรับหลังคา
ระเบียงคดทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตู (โคปุระ) ทางเข้าสู่ปราสาทอยู่ตรงกลางและยังมีประตูข้างอีกด้านละ 2 ประตู ยกเว้นด้านทิศใต้ให้เห็นเพียงประตูเดียว ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกเจาะช่องตื้น ๆ สลักเป็นหน้าต่างปลอมที่ผนังด้านนอก ผนักงด้านในเจาะช่อง เป็นหน้าต่างจริงเป็นระยะ ๆ ส่วนด้านตะวันตกมีแต่หน้าหลอกทางด้านนอก ด้านทิศเหนือและใต้เจาะหน้าต่างที่ผนังด้านใน
ซุ้มประตูกลางของระเบียงคดด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก มีมุขทั้งด้านในและด้านนอก ด้านข้างชักปีกออกไปต่อกับห้องของระเบียง จึงมีลักษณะ เป็นห้องรูปกากบาทรูปโค้งลดชั้นประดับสันหลังคาด้วยบราสีส่วนซุ้มประตูหรือโคปุระของระเบียงคดด้านทิศเหนือ และใต้ไม่มีมุข จึงมีลักษณเะเป็นห้องยาว ด้านทิศใต้เจาะประตู 3 ช่อง แต่ด้านเหนือเจาะเพียงช่องเดียว
ที่มุมอันเป็นจุดบรรจบกันของระเบียงคดทำเป็นซุ้มรูปกากบาท เช่นเดียวกันซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศตะวันออกและตะวันตกแต่ขนาดเล็กกว่า มีให้เห็นอยุ่ 3 มุม ยกเว้นมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซุ้มมุมเหล่านี้จำหลักผนังด้านที่หันออกข้าง 2 ด้าน เป็นประตูหลอกเลียนแบบบานประตูไม้ 2 บานมีอกเลาอยู่ตรงกลาง
ซุ้มประตูระเบียงคดเหล่านี้ ทั้งที่เป็นประตูจริง และประตูหลอกมีการจำหลักลวดลายที่หน้าบัน ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู และเสาติดผนัง เช่นเดียวกับที่ส่วนบนของผนังระเบียง ที่หน้าบันและทับหลังมักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่อง ที่ส่วนอื่น ๆ มักเป็นลายพันธุ์พฤกษา
ซุ้มประตูข้าง (ซีกทิศเหนือ) ระเบียงคดทิศตะวันออก หน้าบันสลักภาพการรบระหว่างลิงกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์
สะพานนาคราช
ชั้นที่ 3
เมื่อผ่านซุ้มประตูกลางของระเบียงคดเข้ามาจะถึงสะพานนาคราชชั้นที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านหน้าปราสาทประธาน มีลักษณะเหมือนกับสะพานนาคราชทั้ง 2 ชั้น แต่มีขนาดเล็กลงคือ ขนาดกว้าง 3.40 เมตร ยาว 9.9 เมตร แต่พื้นกลางสะพานไม่จำหลักลายกลีบดอกบัว
สะพานนาคราชช่วงสุดท้าย เชื่อมระหว่างโคปุระด้านทิศตะวันออกกับปราค์ประะานฌศียรนาคราช
ประดับราวสะพาน เป็นนาคราช 5 เศียร มีรัศมีเช่นเดียวกับสะพานนาคราชช่วงก่อน ๆ

The last Naga bridge connects easten entrance to the Main Sanctuary
ปราสาทประธาน
ปราสาทประธานเป็นสถาปัตยกรรมหลักที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อ มุมขนาดกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร มีมุข 2 ชั้น ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนทางด้านหน้า คือ ทิศตะวันออกทำเป็นอาคารมีแผนผัง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 8 x 10 เมตร ในตำแหน่งเดียวกันกับสถาปัตยกรรมต้นแบบของอินเดีย ซึ่งเป็นอาคารมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่เรียกว่า มณฑป โดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมขนาด 3.60 x 8.10 เมตร กับปราสาทประธาน มณฑปยังมีมุขอยุ่ทางด้านหน้าอีกที่หนึ่ง ส่วนต่าง ๆ ทั้งหมดของปราสาทประธานตั้งอยู่บานฐาน 2 ขั้น ย่อมุมรับกันกับอาคาร
ตามแผนผังเช่นนี้มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เหมือนกันกับแผนผังของผังปราสาทพิมาย เฉพาะองค์ปราสาท ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนฐานเรือนธาตุ และส่วนยอด
ส่วนฐาน ประกอบด้วยฐานเชียงและฐานปัทม์ หรือ ฐานบัวเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายประจำยาม

เรือนธาตุ คือส่วนที่อยู่ถัดขึ้นไปจากฐาน เป็นบริเวณที่เข้าไปภายในได้ห้องภายในนี้ถือเป็นห้องสำคัญที่สุด เรียกว่าห้อง ครรภคฤหะ (garbhagrha) เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถานซึ่งในที่นี้คงจะได้แก่ศิวลึงค์ แต่ปัจจะบันเหลืออยู่เพียงร่องรับน้ำสรง ต่อท่อลอดพื้นห้อง ผ่านลานปราสาทออกไปนอกระเบียงคดด้านทิศเหนือเรียกว่าท่อโสมสูตร
ส่วนยอดหรือเรือนยอด ทำเป็นชั้น ๆ (ชั้นเชิงบาตร) ลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนยอดสลักเป็นรูปดอกบัวรองรับนภศูลที่สูญหายไปนานแล้ว ที่ชั้งเชิงบาตรแต่ละชั้นประกอบด้วยซุ้มและกลีบขนุน จำหลักเป็นรูปเศียรนาคฤษี (โยคี) เทพสตรี และเทพประจำทิศต่าง ๆ


กลีบขนุนปรางค์ที่ประดับตามมุมของ แต่ละชั้นจะสลักให้สอบเอนไปข้างหลัง เป็นเหตุให้ยอดปรางค์มีรูปทรงเป็นพุ่ม
ส่วนประกอบอื่น ๆ ขององค์ปราสาทได้แก่ มุขปราสาทด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ตลอดจนมณฑปด้านหน้า มุงหลังคารูปโค้งลดชั้น เช่นเดียวกับซุ้มประตูระเบียงคดหรือโคปุระ
องค์ปราสาทและส่วนประกอบทั้งหมดมีประตูกับเป็นชั้น ๆ อยู่ในแนวตรงกันทุกทิศมณฑปและอันตราละมีประตูช้างทางทิศเหนือและทิศใต้ข้างละ 1 ประตู มีร่องรอยว่าประตูเหล่านี้เคยมีบานประตูไม้ชนิดที่มี 2 บาน มีอกเลาตรงกลางเหมือนกับภาพสลักประตูหลอกที่ระเบียงคด
ที่หน้าประตูด้านนอกทุกทิศมีหลุมสำหรับติดตั้งประติมากรรมขนาบอยู่ 2 ข้าง ประติมากรรมที่ติดตั้งไว้ที่นี่คงจะได้แก่รูป ทวารบาลซึ่งมีหน้าที่เฝ้าวิมานของเทพเจ้าและที่พื้นหน้าประตูมุขของมณฑปมีอัฒจันทร์จำหลักเป็นรูปดอกบัว 8 กลีบ 3 ดอก น่าจะมีความหมายพิเศษ จึงไม่น่าที่จะใช้ประตูนี้เป็นทางเข้าสู่ห้องภายในมณฑป ประตูที่ใช้เป็นทางเข้าสู่มณฑปจึงได้แก่ประตูข้างทางด้านทิศเหนือและทิศใต้
ส่วนต่าง ๆ ของปราสาทประธาน ตั้งแต่ฐาน ผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลังหน้าบันซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดขนกลีบขนุนล้วนสลักลวดลายประดับ มีทั้งลวดลายดอกไม้ใบไม้ที่เรียกว่าลายพันธุ์พฤกษา ภาพบุคคลซึ่งได้แก่เทพต่าง ๆ เช่นเทพประจำทิศและภาพเล่าเรื่อง่ตามคัมภีร์ทางศาสนาเช่นเรื่องมหาภารตะ เรื่องของพระศิวะ เรื่องของพระวิษณุ ซึ่งมักเป็นเรื่อง อวตาร ปางต่าง ๆ ของพระองค์โดยเฉพาะปางรามาวตารหรือ รามายณะ ที่เรารู้จักกันในชื่อรามเกียรติ์ ดูเหมือนจะมีมากเป็นพิเศษอาจจะเนื่องจากเป็นเรื่องที่นิยมเล่ากันแพร่หลายมากที่สุดในสมัยนั้นก็เป็นได้
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของปราสาทประธานพอจะกำหนดอายุได้ว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17

ปรางค์น้อย
ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทประธานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้สร้างเป็นปราสาทสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาด 6 x 6 เมตร สูง 5.5 เมตร ส่วนยอดชำรุดเข้าใจว่าเมื่อมีการก่อสร้างในสมัยหลังได้รือเอาหินส่วนยอดปรางค์องค์นี้ซึ่งขณะนั้นอาจอยู่ในสภาพที่ผังลงมาบ้างแล้วไปใช้ในที่อื่น การนำชิ้นส่วนเก่าไปใช้สร้างอาคารใหม่เช่นนี้มีให้เห็นอีหลายแห่งเป็นต้นว่า เราได้พบชิ้นส่วนหินทรายที่มีสภาพงดงามปูพื้นทางเดินโดยางคว่ำไว้ และได้พบศิลาจารึกเป็นส่วนประกอบของอาคารเป็นต้น แสดงว่าได้มีการนำชิ้นส่วนของอาคารเดิมที่อาจพังลงมาไปไว้ใช้ก่อสร้างอาคารใหม่ในสมัยต่อมาปราสาทองค์นี้ก่อด้วยหินทรายกรุผนังด้านในด้วยศิลาแลง มีประตูเข้าได้ทั้งเดียวคือ ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้า ส่วนด้านอื่น ๆ ก่อผนังทึบแต่สลักเป็นประตูหลอก
ภายในห้องมีแท่นฐานหินทรายสำหรับประดิษฐานรูปเคารพภาพจำหลักประดับส่วนต่าง ๆ ขององค์ปราสาทต่างกันกับปราสาทประธาน ซึ่งหน้าบันจะจำหลักภาพบุคคลแต่ปรางค์น้อย หน้าบันจะจำหลักลายพันธุ์พฤกษาเป็นส่วนใหญ่โดยมีภาพบุคคลขนาดเล็กอยู่ตรงกลางค่อนมาทางด้านล่าง เช่น ที่หน้าบันด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นรูปบุคคลยกแขนซ้ายขึ้นท่ามกลางลวดลายพันธุ์พฤกษาข้างล่าง ของภาพบุคคลเป็นรูปหน้ากาลหรือเกียรติมุข
ภาพบุคคลดังกล่าวคงแสดงภาพ พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะในเรื่อง กฤษณาวตาร เศียรนาคกรอบหน้าบันทำเป็นเศียรนาคเกลี้ยงไม่มี รัศมีลักษณะดังกล่าวประกอบกับลักษณะของลวดลายจำหลักบนทับหลังตรงกับรูปแบบทางศิลปะเมมรแบบบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 โดยมีลักษณะของแบบศิลปะก่อนหน้านั้น คือ แบบเกลียงหรือคลัง ปะปนอยู่บ้าง ทำให้สามารถกำนดอายุได้ว่าปรางค์น้อยคงจะสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนหน้าปราสาทประธาน
ปราสาทอิฐ 2 องค์
ใกล้ ๆ กับปราสาทประธานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีฐานปราสาทก่อด้วยอิฐอยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกขนาด 5 x 5 เมตร อีกองค์หันหน้าไปทางทิศตะใต้ขนาด 5 x 5 เมตร
ปราสาทอิฐ 2 หลังนี้ มีเสาประดับกรอบประตูที่ทำด้วยหินทราย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้ศึกษาพบว่า น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 และพบประติมากรรมหินทราย 2 รูป มีลักษณะศิลปะที่มีอายุใกล้เคียงกันจึงกว่าวได้ว่าปราสาทอิฐคงจะสร้างขึ้นในช่วงนั้น คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 นับเป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุที่มีอายุเก่าที่สุดที่เหลืออยู่

วิหารหรือบรรณาลัย 2 หลัง
ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง มีประตูเข้าออก ด้านเดี่ยว ภายในไม่มีรูปเคารพหลังคาทำเป็นรูปประทุนเรือโดยการวางหินซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปบรรจบกันแบบเดียวกับหลังคาระเบียงคด
อาคารหลังที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกมีขนาด 11.60 x 7.10 เมตร สูง 5 เมตร ส่วนหลังที่อยู่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีขนาด 14.50 x 8.50 เมตร สูง 3 เมตร หันหน้าไปทางทิศใต้อาจเพื่อหลีกเลี่ยงปราสาทเก่า 2 หลัง ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น
อาคารลักษณะนี้ในศิลปะเขมรเรียกว่า บรรณาลัย หมายถึง ที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในสมัยบายนพุทธศตวรรษที่ 18
     
 
การได้ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืน จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก

การได้ทับหลังนานายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้งคืน จากสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ประเทศหสรัฐอเมริกานั้น เป็นผลมาจากการร่วมมือรณรงค์ของคนจำนวนมาก หลายชาติหลายภาษา ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ ที่มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญชิ้นนี้ได้กลับสู่ประเทศไทยผู้เป็นเจ้าของ
หลักฐานที่สำคัญที่สามารถยืนยันได้ว่า ทับหลังชิ้นนี้เป็นของปราสาทพนมรุ้ง ได้แก่ ภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสปราสาทพนมรุ้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2472 เป็นภาพถ่ายทับหลังที่แตกหักเป็น 2 ชิ้น ภาพถ่ายนี้เหมือนกับที่นายมานิต วัลลิโภดม ได้ถ่ายไว้ เมื่อ พ.ศ. 2503 ปรากฏในหนังสือรายงานการนสำรวจขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503 - 2503
ในช่วงระหว่างปีก พ.ศ. 2504 - 2508 ได้มีการโจรกรรมทับหลังนารายบรรทมสินธุ์ ที่แตกหักเป็น 2 ชิ้นนี้ไปจากปราสาทพนมรุ้ง ในปี พ.ศ. 2508 กรมศิลปากร ได้ยืดเอาทับนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น โดยได้ยืดเอาทับหลังชิ้นเล็กจากร้านกรุงเก่า (ที่ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Capital Antique) แถบราชประสงค์กรุงเทพฯ ส่วนทับหลังชิ้นใหญ่ที่มีการจำหลักนารายณ์บรรทมสินธุ์นั้นไม่ได้พบในเวลานั้น จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล และดร.ไฮแรม วูดเวิร์ด (Hiram Woodword) ได้พบทับหลังชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกประเทศสหรัฐอเมริกา จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ทราบ ต่อมา ดร. ไฮแรม วูดเวิร์ด เขียนแจ้งสถาบันฯเป็นลายลักษณ์อักษร ศาสตราจารย์ ม.จ. สภัทรดิศ ดิศกุล ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงกรมศิลปากร แนะให้ขอคืนจากนายเจมส์ อัลสดอร์ฟ (James Alsdorf) ประธานมูลนิธิ อัลสดอร์ฟ (Als dorf Foudation) ที่ให้สถาบันฯ ยืมแสดงในขณะนั้น
ในระหว่างปี พ.ศ. 2516 - 2521 กรมศิลปากรได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้ ตั้งแต่ทำหนังสือและส่งหลักฐานยืนยันต่าง ๆ ถึงรัฐบาลสหรัฐ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตไทยในอเมริกา ถึงผู้ว่าอำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเอเชียของยูเนสโกประเทศญี่ปุ่น และถึงเลขาธิการสภาพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museums (ICOM) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก แต่ก็ไม่เป็นผลเนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นมิได้เข้าร่วมภาคีแห่งอนุสัญญาขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสหประชาชาติ ว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฏหมาย
จนกระทั่งต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เมื่อการบูรณะปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีอนัสติโลซีสเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ และเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งได้ การดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงได้เริ่มขึ้นจากการริเริ่มของคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการทำหนังสือโยตรงถึงผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ได้ยืนยันว่า ทางสถาบันได้รับทับหลังชิ้นนี้มาอย่างถูกต้องแต่พร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นมิตร โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุ ที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรได้มีมติเรื่องนี้ว่า กรมศิลปากรจะไม่ดำเนินการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเป็นอันขาด แต่เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ยินดีจะจำลองประติมากรรมที่มีความสำคัญทางศิลปะให้คุณค่าทางการศึกษาเป็นการตอบแทน การดำเนินการในระยะนี้ได้รับความสนใจและร่วมผลัพดันเต็มที่จากสื่อมวลชนทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการทวงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายมารุต บุนนาค) เป็นประธานกรรมการ การเจรจาในระยะนี้ ทางสถาบันศิลปะฯ ยังคงยืนยันที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้มีมติว่า ถ้าทางสถาบันศิลปะฯ ส่งทับหลังคืนทางคณะกรรมการฯ จะส่งศิลปวัตถุที่มีอายุใกล้เคียนหรือเก่ากว่าและมีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมให้สถาบันฯ ยืมเพื่อจัดแสดงเป็นการชั่วคราว โดยได้ส่งรูปโบราณวัตถุให้ทางสถาบันศิลปะฯ คัดเลือก
ทางสถาบันศิลปะได้มีความสนใจในเสมาแสดงภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบัลพัศด์ ซึ่งพบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ทางไทยส่งภาพให้โดยแจ้งความประสงค์จะขอแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุชิ้นนี้กับทับหลังทางคณะกรรมการฯ มีมติไม่ยินยอมตามข้อเสนอดังกล่าว
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531 กรทรวงศึกษาธิการโดยกรมศิลปากรได้มีการประชุมและเสนอแนวทาง แก่คณะกรรมการฯ โดยมีสาระสำคัญ คือ เจรจาให้สถาบันคืนทับหลังโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งถ้าทางสถาบันยินยอม ประเทศไทยโดยกรมศิลปากรยินดีจะให้ความร่วมมือทางวิชาการตามแนวทางการบริหารงานพิพิธภัณฑ์สากล โดยการให้ยืมศิลปวัตถุเพื่อจัดแสดงเป็นการชั่วคราว และได้มีการแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายไทย ไปเจรจากับทางสถาบัน ผลการเจรจา ไม่เป็นที่ตกลงกัน
มีการประชุมสภาเมืองชิคาโก ในเรื่องทับหลัง มีผู้ที่ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกรรมการกรณีทับหลัง หรือบุคคลภายนอกที่เป็นทั้ง ชาวต่างชาติ รวมทั้งชาวอเมริกกันเองด้วย ด้วยแรงกดดันต่าง ๆ เหล่านี้ และจากสื่อมวลชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทางสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก จึงได้ส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนให้แก่ รัฐบาลไทยในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 และได้นำเอาทับหลังชิ้นนี้กลับไปติดตั้งยังที่เดิม ณ องค์ปราสาทประะานพนมรุ้ง ในวันที่ 7 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง
 
 
 
 

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

รายละเอียดดีมากเลยครับ

Jringjo กล่าวว่า...

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งครับ จัดทุกปี https://www.youtube.com/watch?v=LRhaFuIgUR0

แสดงความคิดเห็น